Mass Media News

“ก.วิทย์ฯ จับมือเอกชน ร่วมแก้วิกฤติยางพารา ดันผลงานวิจัยของคนไทยพัฒนาและทดสอบคุณสมบัติแผ่นยาง” (รัฐบาลไทย)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ บริษัท ไอ อาร์ ซี (เอเซีย) รีเสิร์ช จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามความร่วมมือในการเพิ่มมูลค่ายางพาราโดยการผลิตเป็นชิ้นส่วนใช้ในระบบราง ตั้งเป้าวิจัยพัฒนา นำยางพาราไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แผ่นยางรองรางรถไฟจากยางพารา ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์แรกที่จะทำร่วมกัน โดยทีมวิจัยจากหน่วยเฉพาะทางด้านยางธรรมชาติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค/สวทช.)  วว. และ บริษัท IRC

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้ความสำคัญกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหายางพารา ซึ่งขณะนี้มียางในสต๊อกจำนวนมากกว่า 4 แสนตัน โดยมีแนวทางแก้ปัญหาส่วนหนึ่งคือ เร่งนำยางพาราไปใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งจะช่วยให้มีมูลค่าเพิ่มและเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ อาทิ การแปรรูปยางพาราเพื่อใช้เป็นชิ้นส่วนในระบบรางนอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่ายางพาราแล้วยังสามารถลดการนำเข้าชิ้นส่วนต่างๆ จากต่างประเทศ ส่งผลต่อการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางในประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของรถไฟไทย ซึ่งจะช่วยยกระดับระบบการคมนาคมขนส่งทางรางของไทยให้เทียบเท่ากับนานาอารยประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ยังสร้างโอกาสการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งทางรางของไทยให้มีความยั่งยืนในอนาคต

ดร.พิเชฐฯ กล่าวต่อว่าปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย มีระยะทางที่เปิดการเดินรถแล้ว รวมทั้งสิ้น 4,346 กิโลเมตร ซึ่งหากรวมกับรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้ามหานคร และการก่อสร้างรถไฟฟ้าอีก 10 เส้นทาง รถไฟทางคู่ที่จะดำเนินการในอนาคต จะมีระยะทาง รวมทั้งสิ้นกว่า 8,404 กิโลเมตร ซึ่งจะมีปริมาณการใช้แผ่นยางรองรางรถไฟของประเทศไทยโดยประมาณ 25 ล้านชิ้น มูลค่ากว่า 1,550 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าปริมาณการใช้ยางรองรางรถไฟในประเทศไทย มีความต้องการเป็นจำนวนมาก หากสามารถผลิตได้เองในประเทศจากยางพารา แทนที่จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นการช่วยเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว ยังช่วยลดภาระจากการนำเข้าจากต่างประเทศได้อีกด้วย ฉะนั้นความร่วมมือระหว่าง สวทช. วว. และ บริษัท ไอ อาร์ ซี (เอเซีย) รีเสิร์ช จำกัด ในการร่วมกันพัฒนาชิ้นส่วนยางใช้ในระบบราง จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถผลิตชิ้นส่วนยางใช้ในระบบรางได้เองในประเทศ และยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมยางไทยอีกด้วย

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ยางพาราเป็นทรัพยากรทางการเกษตรที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศในอันดับต้นๆ  โดยในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีรายได้จากยางพารา 534,630 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการส่งออกยางพารา 193,750 ล้านบาท รายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง 261,045 ล้านบาท และรายได้จากการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพารา 79,835 ล้านบาท แต่ปัญหาอย่างหนึ่งของประเทศไทย คือ มีการนำยางพารามาสร้างมูลค่าเพิ่มจากการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ เพียงร้อยละ 12.5 หรือ 541,000 ตันของปริมาณยางที่ผลิต ประเทศไทยต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกยางพาราในรูปวัตถุดิบ ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับผลกระทบมากเมื่อราคายางตกต่ำ อย่างที่เป็นอยู่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แนวทางการลดผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวคือการเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศ เพื่อเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งก็เป็นนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันอยู่แล้ว

ดร.ทวีศักดิ์ฯ กล่าวว่าเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้ง 3 ฝ่ายจะทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกันโดยการนำยางพาราไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนในระบบราง โดยผลิตภัณฑ์แรกที่จะทำ คือ แผ่นยางรองรางรถไฟจากยางพารา ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์ยางทางวิศวกรรมชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมหนาประมาณ 2-12 มิลลิเมตร สำหรับใช้วางระหว่างหมอนรองรางกับรางรถไฟเพื่อลดการสั่นสะเทือนขณะที่รถไฟเคลื่อนที่ผ่าน ทั้งนี้คาดว่าจะได้ต้นแบบแผ่นยางรองรางรถไฟประมาณต้นปี 2559

ด้าน ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. กล่าวชี้แจงว่า ภายใต้โครงการความร่วมมือดังกล่าว วว. จะทำการทดสอบสมบัติของแผ่นยางรองรางรถไฟให้ได้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำระบบคุณภาพของห้องปฏิบัติการทดสอบ ตามข้อกำหนดมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ในการทดสอบผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแผ่นยางรองรางรถไฟ เมื่อการดำเนินโครงการฯแล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถขยายผลดำเนินการเพื่อนำยางพาราไปใช้ประโยชน์ในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่เป็นเครือข่ายของ บริษัทไอ อาร์ ซี     ได้อีกด้วย

รองผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. มีขีดความสามารถด้านการทดสอบผลิตภัณฑ์จากยางและเป็นห้องปฏิบัติการซึ่งได้รับการยอมรับจากผู้ใช้บริการทั้งภาครัฐและเอกชน มีการปฏิบัติงานสอดคล้อง ตามระบบคุณภาพ  ISO/IEC 17025 ในการทดสอบผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแผ่นยางรองรางรถไฟ จึงมีส่วนร่วมในการผลักดันโครงการนี้สู่ความสำเร็จได้

คุณพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ประธานกรรมการ บริษัท ไอ อาร์ ซี (เอเซีย) รีเสิร์ช จำกัด กรรมการบริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า IRC หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาราคายางพาราแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการวิจัย และพัฒนาการเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราไทย โดยการนำมาประยุกต์ใช้ในโครงการพัฒนาระบบการขนส่ง ทางรางของประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีโดยตรงต่อเกษตรกรชาวสวนยาง และภาคอุตสาหกรรมยางพารา ภายใต้ความสำเร็จของผลงานวิจัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต IRC จะประยุกต์ผลงานวิจัยดังกล่าวสู่กระบวนการผลิตที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดย IRC เป็นบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางสำหรับผู้อุปโภคโดยตรง ได้แก่ ยางรถจักรยานยนต์ “IRC” ชิ้นส่วนสำหรับใช้ในการประกอบรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ยางใช้ในระบบชลประทานและอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น อีกทั้ง บริษัทฯ ยังมีประสบการณ์ด้านการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง และการบริหารกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพระดับสูง ได้มาตรฐานสากลมามากกว่า 42 ปี ตลอดจนการลงทุนทำวิจัยและพัฒนาทางด้านผลิตภัณฑ์และวัสดุที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การส่งเสริมของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมามากกว่า 18 ปี ซึ่งเป็นการลงทุนทางด้านบุคลากรทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เครื่องทดสอบ ระบบทดสอบต่างๆ รวมมูลค่ากว่า 700 ล้านบาท นอกจากนี้  IRC ยังมีศักยภาพในการถ่ายทอดผลสำเร็จที่ได้จากการวิจัยดังกล่าว สู่บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่เป็นเครือข่ายของ IRC ที่มีประสบการณ์ การบริหารจัดการร่วมกันมากว่า 30 ปี มาร่วมกันต่อยอดการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมยางพาราต่อไป ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาราคายางพาราของประเทศได้อย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงและมั่งคั่งให้กับภาคเกษตรยางพาราของประเทศ อีกทั้งยังสนองต่อนโยบายของภาครัฐในการเพิ่มมูลค่ายางพาราได้อีกทางหนึ่งด้วย